การเจาะอัณฑะในรายที่มีท่อนำอสุจิอุดกั้น (TESE in obstructive azoospermia)
การเจาะอัณฑะเพื่อตรวจหาอสุจิที่มีชีวิตจากเส้นใยสร้างอสุจิในอัณฑะเพื่อนำมาทำ ICSI เป็นกระบวนการรักษาในรายที่ตรวจไม่พบอสุจิเลยในน้ำเชื้อ (Azoospermia)
โดยภาวะดังกล่าว วินิจฉัยโดยการปั่นน้ำเชื้อที่อุณหภูมิห้องปกติ เป็นเวลา 15 นาที
ด้วยความเร็วของเครื่องปั่นตะกอนอย่างน้อย 3,000 g แล้วส่องตะกอนด้วยกล้องจุลทรรศน์กำลังขยายสูงก็ยังไม่พบตัวอสุจิเลยแม้แต่ตัวเดียว
โดยการตรวจจะต้องทำอย่างน้อย 2 ครั้งห่างกันนานอย่างน้อย 2 สัปดาห์
สาเหตุของภาวะไม่มีอสุจิในน้ำเชื้อ (Azoospermia)
อาจแบ่งตามกายวิภาคของการสร้างอสุจิ
- Pretesticular
มักเกิดจากภาวะฮอร์โมนของต่อมไร้ท่อผิดปกติ พบได้ประมาณ 3%ของภาวะมีบุตรยาก
ภาวะที่พบบ่อยได้แก่ ภาวะฮอร์โมนจากสมองบริเวณไฮโปธาลามัสต่ำ (Hypogonadotropic hypogonadism) เช่น กลุ่มอาการ Kallmann’s เนื้องอกบริเวณต่อมพิทูอิตารี่ มีประวัติการบาดเจ็บของสมองหรือต่อมพิทูอิตารี่ การใช้สเตียรอยด์
- Testicular
อาจเกิดจากภาวะเส้นเลือดขอดบริเวณอัณฑะ อัณฑะไม่ลงถุง อัณฑะบิดขั้ว คางทูมทำให้อัณฑะอักเสบ ยาบางชนิด หรือมีพันธุกรรมหรือยีนส์บางอย่างผิดปกติ
- Post-testicular
อาจเกิดจากภาวะ ไม่มีท่อนำอสุจิแต่กำเนิด (congenital absence of the Vas deferens) หรือมีการอุดตันของท่อนำอสุจิ เช่น เกิดขณะผ่าตัดซ่อมแซมไส้เลื่อน หรือเคยเกิดการอักเสบติดเชื้อจนเกิดการทำลายท่อนำอสุจิจนตีบตัน หรือเคยทำหมันชายมาก่อน
การตรวจหาสาเหตุ อาจทำได้โดยการซักประวัติ ตรวจร่างกาย ตรวจเลิอดหาระกับฮอร์โมน FSH และ testosterone เพื่อประเมินหาระดับความผิดปกติและการแก้ไข
การเจาะอัณฑะ มักใช้เพื่อการรักษาในกรณีที่ภาวะ Azoospermia นั้นเกิดที่ระดับท่อนำอสุจิอุดกั้น
โดยมีหลากหลายเทคนิค ในการทำอสุจิออกมาเพื่อทำ ICSI
- PESA คือการเจาะดูดน้ำอสุจิจากกระเปาะเก็บอสุจิ (epididymis)
- MESA คือการกรีดถุงหุ้มอัณฑะให้เห็นรอยท่อของอัณฑะกับท่อทางเดินอสุจิแล้วใช้เข็มดูดน้ำบริเวณกระเปาะเก็บอสุจิออกมา
- TESA คือการเจาะดูดอสุจิจากอัณฑะโดยตรง
- TESE คือการกรีดเปิดถุงอัณฑะให้มีรูเล็กๆ แล้วใช้เครื่องมือคีบเส้นใยสร้างอสุจิแล้วนำไปเขี่ยหาตัวอสุจิภายใต้กล้องจุลทรรศน์อีกครั้งหนึ่ง
ในแต่ละศูนย์การรักษามีบุตรยากอาจเลือกวิธีตามความชำนาญและความเหมาะสมของแต่ละบุคคล
โดยส่วนมากวิธี TESE มักเป็นที่นิยมและมักเขี่ยหาตัวอสุจิได้มาก
แต่ต้องทำภายใต้แพทย์เฉพาะทางชำนาญการและดมยาสลบ
แต่ก็พบมีบางรายไม่มีตัวอสุจิที่ปกติหรือมีชีวิตรอดที่จะนำไปใช้ทำ ICSI ได้เลย
จึงควรมีแผนสำรองเช่น อสุจิบริจาคไว้ด้วย