กระบวนการแช่แข็งตัวอ่อนด้วยความเย็น ( Vitrification of the human embryo)
เนื่องจากมีการพัฒนากระบวนการเลี้ยงตัวอ่อนในห้องปฏิบัติการได้ดีมากขึ้นในปัจจุบัน
จึงมีตัวอ่อนที่เราสามารถเลี้ยงได้จนถึงระยะ blastocyst มากขึ้น
และเนื่องจากตัวอ่อนในระยะนี้มีศักยภาพในการฝังตัวค่อนข้างสูง
จึงมีการจำกัดการย้ายตัวอ่อนเพียงครั้งละ 1-2 ตัวเท่านั้น
เมื่อมีตัวอ่อนเหลือจึงนำมาสู่กระบวนการแช่แข็งตัวอ่อนด้วยความเย็นอย่างมีประสิทธิภาพ
กระบวนการแช่แข็งตัวอ่อนปัจจุบันวิธีที่เป็นมาตรฐานที่ยอมรับกันทั่วโลกคือ
กระบวนการ Vitrification หรือกระบวนการทำให้ของเหลวภายในเซลล์กลายเป็นของแข็งเสมือนแก้วโดยการลดอุณหภูมิลงอย่างรวดเร็วและแช่ลงในไนโตรเจนเหลว
โดยไม่ทำให้เกิดเกล็ดน้ำแข็ง ( Ice crystal)
โดยใช้น้ำยาเก็บรักษาตัวอ่อนด้วยความหนืดและความเข้มข้นที่เหมาะสม
การไม่เกิดเกล็ดน้ำแข็งภายในเซลล์จะสามารถคงสภาพและเกิดการทำลายเซลล์น้อยกว่าวิธีดั้งเดิมคือ Slow freezing
ประโยชน์ของกระบวนการแช่แข็งตัวอ่อนด้วยวิธี vitrification
- เพิ่มอัตราการรอดของตัวอ่อนหลังละลายอย่างมีนัยสำคัญ ทำให้เพิ่มประสิทธิภาพของการย้ายตัวอ่อน
- เพิ่มอัตราการตั้งครรภ์สะสม ( Cumulative pregnancy rates)
- เพิ่มความปลอดภัยในกระบวนการรักษา ทำให้เราสามารถย้ายตัวอ่อนที่มีคุณภาพดีได้ทีละตัว ลดอัตราการเกิดครรภ์แฝดที่ไม่พึงประสงค์
- ลดโอกาสการเกิดภาวะรังไข่ตอบสนองมากเกินไป (ovarian hyperstimulation syndrome) ซึ่งนำมาสู่กระบวนการแช่แข็งตัวอ่อนก่อนทั้งหมด แล้วจึงนำมาละลายและย้ายในภายหลัง
- ทำให้เราสามารถตรวจคัดกรองพันธุกรรมตัวอ่อนก่อนการฝังตัว (Preimplantation genetic testing) ได้ โดยการแช่แข็งตัวอ่อนไว้รอผล
เราแช่แข็งตัวอ่อนในระยะไหน
ตัวอ่อนสามารถแช่แข็งได้ในทุกๆระยะ ตั้งแต่ Zygote (ตัวอ่อนวันที่ 1), ระยะการแบ่งเซลล์ ( วันที่ 2 หรือ 3 ) ระยะน้อยหน่า (morula stage; วันที่ 4) หรือระยะ blastocyst (วันที่ 5)
ระยะที่เหมาะและมีประโยชน์ต่อคนไข้ในการฝังตัวมากที่สุดคือระยะวันที่ 5 ของการเจริญเติบโต หรือ Blastocyst ส่วนประโยชน์ของการแช่แข็งตัวอ่อนในระยะอื่นๆเช่น ระยะวันที่ 2 หรือ 3 ในกรณีที่คนไข้มีตัวอ่อนคุณภาพไม่ดีและมีจำนวนตัวอ่อนน้อยมาก
การละลายและแช่แข็งซ้ำ โดยมีการตัดเซลล์ตัวอ่อนหรือไม่ได้ตัดเซลล์ตัวอ่อนตรวจร่วมด้วย
หลายคนมีความเชื่อว่า การแช่แข็งตัวอ่อนซ้ำหลายๆรอบอาจจะส่งผลเสียต่อการรอดของตัวอ่อนหรือไข่
แต่หากใช้กระบวนการแช่แข็ง Vitrification ดังได้กล่าวไปข้างต้นนั้น
พบว่ามีผลเสียต่อตัวอ่อนน้อยมาก
กระบวนการแช่แข็งซ้ำอาจกระทำได้ในการละลายเซลล์ไข่มาปฏิสนธิทำให้เป็นตัวอ่อนและนำไปแช่แข็งแล้วละลายมาย้ายก็พบว่าประสบความสำเร็จมาแล้ว
นอกจากนี้กระบวนการละลายตัวอ่อนที่ไม่เคยผ่านการตรวจโครโมโซมแล้วมาตัดตรวจโครโมโซมแล้วแช่แข็งกลับไป
เมื่อผลออกมาปกติจึงละลายมาย้ายกลับเข้าโพรงมดลูก
พบว่าอัตราการตั้งครรภ์ไม่แตกต่างกันในกลุ่มที่ละลายเพียงครั้งเดียว
แต่ในกลุ่มที่โดนตัดเซลล์ตรวจคัดกรองโครโมโซมถึงสองครั้ง
ก็พบว่ามีผลต่อการรอดชีวิตของตัวอ่อนไม่มากก็น้อย
ตัวอ่อนจะถูกเก็บแช่แข็งไว้ได้นานแค่ไหน****
ตามทฤษฎีนั้น ตัวอ่อนอาจถูกเก็บแช่แข็งไว้ได้นับสิบปี ร้อยปี
หรือตราบนานเท่านานที่เรายังคงสภาวะแวดล้อมการแช่แข็งที่เหมาะสมไว้ได้
โดยความเสี่ยงหนึ่งที่พึงระวังคือการปนเปื้อน (Cross contamination)
จากตัวอย่างหนึ่งไปติดเชื้อให้อีกตัวอย่างหนึ่งในถังแช่แข็งเดียวกัน
แต่ยังเป็นเพียงข้อมูลทางทฤษฎีเท่านั้น การดูแลรักษาคุณภาพของถังแช่แข็งและการรักษาระดับของไนโตรเจนเหลวให้เพียงพอจึงมีความสำคัญ
การนำตัวอย่างอื่นออกมาเพื่อละลายอาจจะเป็นการเพิ่มอุณหภูมิให้กับตัวอ่อนอื่นๆ ด้วยโดยไม่ได้ตั้งใจ
นี่อาจจะเป็นการทำให้ตัวอ่อนเสียหายทางอ้อม
ตัวอ่อนที่แช่แข็งในไนโตรเจนเหลวที่อุณหภูมิ -196º
สามารถหยุดกระบวนการทางชีววิทยาไว้ได้ทั้งหมด
หากถังแช่แข็งยังคงอยู่ในสภาพดี
หากมีการรั่วของระบบสุญญากาศของถังภายนอกกับถังภายในก็จะทำให้ไนโตรเจนมีการระเหยอย่างรวดเร็วหรือทำให้อุณหภูมิของถังสูงขึ้นก็จะเกิดความเสียหายกับตัวอ่อนได้
ทั้งนี้การตรวจวัดอุณหภูมิของถังภายนอก และการวัดระดับไนโตรเจนอย่างสม่ำเสมอก็จะสามารถป้องกันภาวะดังกล่าวได้
ผลลัพธ์หลังการละลาย
จากข้อมูลของ Cochrane review ตีพิมพ์เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2021
พบว่าอัตราการเกิดรอดมีชีพสะสม (Cumulative live birth) ของทารกที่ได้รับการแช่แข็งตัวอ่อนกับการย้ายรอบสดแทบไม่แตกต่างกัน
แต่ในกลุ่มที่ได้รับการแช่แข็งตัวอ่อนทั้งหมด (Freeze all)
พบมีอัตราการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากรังไข่ตอบสนองมากเกินไป (Ovarian hyperstimulation syndrome: OHSS ) น้อยกว่า
โดยในกลุ่มที่ได้รับการย้ายตัวอ่อนรอบสด อาจพบ OHSS ได้ประมาณ 3% เมื่อเทียบกับวิธีแช่แข็งทั้งหมดคือ 1%
ระยะเวลาตั้งแต่กระบวนการรักษาจนถึงตั้งครรภ์ (Time to pregnancy)
ในกลุ่มที่ย้ายรอบสดก็จะสั้นกว่ากลุ่มแช่แข็ง
เนื่องจากในกลุ่มแช่แข็งต้องมีการรอประจำเดือนรอบถัดไปก่อนที่จะกินยาเตรียมเยื่อบุโพรงมดลูกแล้วละลายตัวอ่อนย้ายกลับคืน
โดยที่อัตราการตั้งครรภ์พบว่าใกล้เคียงกัน
ผลลัพธ์ของทารกที่เกิดจากกระบวนการแช่แข็ง-ละลายตัวอ่อน
เมื่อศึกษาเปรียบเทียบระหว่างการตั้งครรภ์ตามธรรมชาติ
การย้ายตัวอ่อนรอบสด และการย้ายตัวอ่อนรอบแช่แข็ง ไม่มีความแตกต่างกันในแง่ของการคลอดก่อนกำหนดและทารกแรกคลอดน้ำหนักตัวน้อย
ในตัวอ่อนที่ได้รับการตัดเซลล์ตรวจคัดกรองโครโมโซมและแช่แข็งไม่พบว่าเพิ่มความพิการแต่กำเนิดหรือภาวะแทรกซ้อนอื่นๆในทารก
อัตราค่าแช่แข็งตัวอ่อนในรอบกระตุ้น
1-5 ตัวแรก 15,000 บาท ตัวที่ 6 ขึ้นไป ตัวละ 3,000 บาท
ค่าเก็บรักษาตัวอ่อน ปีที่ 2 ขึ้นไป ปีละ 5,000 บาท
ค่าย้ายตัวอ่อน (Embryo transfer) ครั้งละ 15,000 บาท ทั้งในรอบใส่สด หรือรอบแช่แข็ง
ค่าละลายตัวอ่อน ครั้งละ 10,000 บาท