แช่แข็งเซลล์สืบพันธุ์ ( Sperm and oocyte)

กระบวนการแช่แข็งอสุจิ

จากงานวิจัยพบว่า เมื่อผู้ชายอายุมากขึ้น จะส่งผลต่อคุณภาพของอสุจิ

ทำให้ปริมาตร ความเข้มข้น รูปร่าง และการเคลื่อนไหวของอสุจิลดลง ถึงแม้จะยังมีการผลิตอสุจิได้

ดังนั้นการแช่แข็งอสุจิจึงเป็นอีกทางเลือกในการช่วยรักษาโอกาส

ที่จะได้อสุจิที่มีคุณภาพ เมื่อต้องการใช้ในเวลาที่เหมาะสม

  1. การแช่แข็งอสุจิ คือ 

กระบวนการที่ใช้ความเย็นช่วยในการเก็บรักษาอสุจิ เพื่อสามารถนำมาทำการผสมเทียม หรือใช้ในเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ ในช่วงเวลาที่เหมาะสม โดยจะเก็บรักษาอสุจิได้เป็นเวลานานมากกว่า10ปี ภายใต้สภาวะ -196 องศาเซลเซียส

2.วิธีการแช่แข็งอสุจิ

การแช่แข็งอสุจิ จะใช้วิธีการที่เรียกว่า Rapid Freezing ซึ่งเป็นการลดอุณหภูมิลงอย่างรวดเร็ว ร่วมกับการใช้สารที่ช่วยป้องกันการเกิดผลึกน้ำแข็งภายในเซลล์ แล้วเก็บรักษาอสุจิไว้ใน ไนโตรเจนเหลว ที่อุณหภูมิ -196 องศาเซลเซียส

3.ประโยชน์ / เหมาะสำหรับ

- กรณีที่ต้องการเก็บไว้ใช้ในอนาคต เช่น ฝ่ายชายต้องการทำหมัน แล้วเก็บอสุจิเผื่อไว้ใช้ หากต้องการมีบุตรในอนาคต

- กรณีต้องการเก็บไว้ ก่อนการรักษาด้วยเคมีบำบัด ฉายแสง หรือการรักษาอย่างอื่นซึ่งอาจมีผลต่อการผลิตและคุณภาพของอสุจิ

- กรณีเป็นตัวอสุจิที่ได้จากการทำหัตถการ เจาะ ดูด ผ่าตัดท่อนำอสุจิ และ/หรือ ตัดชิ้นเนื้อลูกอัณฑะ และอสุจิที่เหลือใช้หลังจากการ ICSI

- กรณีที่มีภาวะหลั่งอสุจิยาก หรือมีจำนวนตัวอสุจิน้อยมาก

- กรณีฝ่ายชายไม่สามารถมาเก็บอสุจิได้ ในวันเดียวกับที่ฝ่ายหญิงทำการเก็บไข่

- การเก็บแช่แข็งอสุจิเพื่อบริจาค (กรณีนี้ต้องเป็นไปตามกฎหมายกำหนด)

4.การเตรียมตัว และข้อควรระวัง

-การเตรียมตัว 

เจาะเลือดคัดกรอง โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น โรคเอดส์ ซิฟิลิส ไวรัสตับบี

ก่อนกระบวนการแช่แข็งอสุจิจะมีการตรวจน้ำเชื้อก่อน ดังนั้นแนะนำให้ งดหลั่งน้ำเชื้อ หรืองดการมีเพศสัมพันธ์อย่างน้อย 2-7 วัน ก่อนทำการเก็บ และให้ฝ่ายชายเก็บโดยวิธีช่วยเหลือตัวเอง (masturbation) ใส่ในภาชนะที่สะอาด โดยมีห้องที่มิดชิดและเป็นส่วนตัวเตรียมไว้ให้ หากเก็บที่บ้าน ให้นำส่งที่อุณหภูมิปกติ ไม่ต้องแช่เย็น และนำส่งภายใน 30 นาที – 1 ชั่วโมง

หลังจากเก็บอสุจิได้แล้ว ทางห้องปฏิบัติการจะตรวจวิเคราะห์คุณลักษณะของอสุจิ และคัดอสุจิที่สมบูรณ์เพื่อแช่แข็งเก็บรักษาไว้

- ข้อควรระวัง

หลีกเลี่ยงการทำหก และไม่นำถุงยางมาเก็บเพราะมีสารเคมีที่จะทำให้อสุจิตาย และห้ามใช้ oral sex ในการช่วยเก็บ

5.ผลหลังการละลาย

เมื่อต้องการใช้อสุจิแช่แข็ง อสุจิจะถูกทำให้กลับคืนสู่สภาวะอุณหภูมิร่างกาย โดยทั่วไปอสุจิที่ผ่านกระบวนการแช่แข็งจะมีอัตราการรอดชีวิตประมาณร้อยละ 50 ขึ้นอยู่กับปัจจัยด้านจำนวนและคุณภาพของอสุจิก่อนแช่แข็ง

6.ผลลัพธ์ของทารกที่เกิดจากการใช้อสุจิที่ผ่านกระบวนการแช่แข็ง

การแช่แข็งอสุจินี้ เป็นวิธีที่ใช้กันมาเป็นเวลานาน และไม่พบว่าทำให้อัตราการเกิดเด็กที่ผิดปกติสูงขึ้นกว่าการใช้อสุจิที่ไม่ผ่านการแช่แข็ง

7.ด้านกฎหมาย

ผู้รับบริการจะต้องลงชื่อใน หนังสือแสดงความยินยอมเพื่อรับการบริการแช่แข็งอสุจิ หลังจากที่เข้าใจถึงข้อบ่งชี้ต่าง ๆที่เกิดขึ้นได้จากกระบวนการแช่แข็งอสุจิ



การแช่แข็งเซลล์ไข่

ในปัจจุบันหนุ่มสาวยุคใหม่มีแนวโน้มที่จะแต่งงานช้าลงและมีบุตรเมื่ออายุมากขึ้น เนื่องด้วยปัจจัยทางสังคมและความพร้อมในด้านต่าง ๆ แต่เนื่องจากผู้หญิงเกิดมาพร้อมกับจำนวนไข่ที่จำกัดและ จากงานวิจัยพบว่าผู้หญิงเมื่ออายุมากขึ้น จำนวนและคุณภาพของไข่จะลดลง ส่งผลให้โอกาสการตั้งครรภ์ลดลงด้วย การแช่แข็งไข่เสมือนเป็นการหยุดเวลาของไข่ที่อายุนั้น ๆทำให้ไข่ยังคงคุณภาพและมีความสมบูรณ์แม้ว่าเราจะมีอายุเพิ่มขึ้น ดังนั้นการแช่แข็งไข่ไว้จึงเป็นอีกทางเลือกที่เข้ามาช่วยเพิ่มโอกาสในการมีบุตร และลดความเสี่ยงในการเกิดความผิดปกติของโครโมโซมของทารก 


1.การแช่แข็งเซลล์ไข่ (Oocyte Freezing) คือ

กระบวนการที่ใช้ความเย็นในการเก็บรักษาเซลล์ไข่ เพื่อให้สามารถนำมาใช้ปฏิสนธิกับอสุจิภายนอกร่างกาย โดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ ในช่วงเวลาที่เหมาะสม

2.วิธีการ

ในอดีตวิธีที่ใช้ในการแช่แข็งเซลล์ไข่จะใช้วิธีที่เรียกว่า Slow Freezing โดยเป็นการค่อยๆลดอุณภูมิลงอย่างช้า ๆจนถึงจุดเยือกแข็ง แต่วิธีนี้ให้อัตราการรอด หลังการละลายค่อนข้างต่ำ เนื่องจากไข่เป็นเซลล์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในร่างกาย และมีน้ำเป็นส่วนประกอบหลัก การที่ค่อยๆลดอุณหภูมิลงจึงมีผลทำให้เกิดผลึกน้ำแข็งส่งผลให้เกิดความเสียหายขึ้นในเซลล์ 

ปัจจุบันจึงมีการพัฒนาวิธีการที่ใช้ในการแช่แข็งเซลล์ไข่ที่เรียกกันว่า Vitrification โดยเป็นการใช้สาร Cryoprotectant ที่มีความเข้มข้นสูงเข้าแทนที่น้ำภายในเซลล์ และลดอุณหภูมิลงอย่างรวดเร็วทำให้ไม่เกิดผลึกน้ำแข็ง และมีอัตราการรอดหลังการละลายค่อนข้างสูง

3.ประโยชน์ / ข้อบ่งชี้ ใครบ้างที่ควรแช่แข็งไข่

  • กรณีที่ยังไม่พร้อมตั้งครรภ์ ต้องการเก็บไว้ใช้ในอนาคต
  • กรณีที่ต้องได้รับการรักษา หรือมีโรคที่ส่งผลต่อความสามารถในการตั้งครรภ์ เช่น รับยาเคมีบำบัด หรือฉายแสง ซึ่งส่งผลกระทบต่อจำนวนและคุณภาพไข่
  • กรณีที่มีความเสี่ยงเกี่ยวกับการทำงานของรังไข่หยุดลงก่อนวัยอันควร (premature ovarian insufficiency) หรือมีประวัติครอบครัวหมดประจำเดือนเร็ว
  • กรณีมีไข่อ่อนที่เก็บได้จากการมีภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ (PCOS)
  • กรณีการเก็บแช่แข็งไข่บริจาค (กรณีนี้ต้องเป็นไปตามกฎหมายกำหนด)

4.การเตรียมตัว

ขั้นตอนการเตรียมตัวจะคล้ายกับการทำเด็กหลอดแก้วปกติคือ

  • ปรึกษาเตรียมความพร้อม ซักประวัติ ตรวจร่างกายโดยแพทย์
  • เจาะเลือดเตรียมความพร้อม
  • ตรวจความพร้อมของเอกสาร
  • รักษาสุขภาพให้แข็งแรง ทานอาหารให้ครบ 5 หมู่
  • งดเหล้า บุหรี่ สารเสพติด ก่อนเข้าสู่กระบวนการรรักษา


5.การเก็บรักษาและแช่แข็งเซลล์ไข่

แพทย์จะมีการฉีดยากระตุ้นไข่ และมีการติดตามการเจริญเติบโตของไข่ เมื่อได้ขนาดตามที่ต้องการแล้วจะทำการฉีดฮอร์โมนเพื่อให้ไข่สุก แล้วจึงทำการเก็บไข่ผ่านช่องคลอด จากนั้นจะคัดไข่ที่อยู่ในระยะที่สมบูรณ์ไปทำการแช่แข็ง ด้วยวิธี Vitrification และเก็บรักษาไว้ใน ไนโตรเจนเหลวภายใต้อุณหภูมิ -196 องศาเซลเซียส

ปัจจุบันจากข้อมูลพบว่ามีความสำเร็จจากการนำไข่ที่ผ่านการแช่แข็งถึง 14 ปีออกมาใช้ 


6.ความเสี่ยง

  • สภาวะที่เกิดจากการใช้ยากระตุ้นไข่ การใช้ยากระตุ้นไข่ซึ่งส่งผลต่อฮอร์โมนในร่างกาย อาจทำให้เกิดอาการบวม อาการเจ็บที่ท้อง ท้องอืด คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย หรืออาจเกิดภาวะที่รังไข่ตอบสนองต่อการกระตุ้นมากเกินไป(OHSS) เกิดขึ้นได้ แต่น้อยมากที่จะเกิดอาการรุนแรง 
  • ความเสี่ยงจากการเก็บไข่ เช่น เลือดออกในช่องท้อง หรือมีเลือดออกในรังไข่


7.อายุที่เหมาะสมในการแช่แข็งไข่

ช่วงอายุที่เหมาะสมคือ น้อยกว่า 35 ปี จากงานวิจัยพบว่าผู้หญิงที่มีอายุมากกว่าหรือเท่ากับ 35 ปี จะมีโอกาสตั้งครรภ์ลดลง โดยมีปัจจัยสำคัญที่เกี่ยวข้องคืออายุของไข่ เมื่ออายุมากขึ้น จำนวนไข่ในรังไข่น้อยลง และคุณภาพของไข่ก็ลดลงด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ เมื่ออายุมากกว่า 35 ปี มีโอกาสมีลูกเป็น ดาวน์ซินโดรมหรือโครโมโซมผิดปกติแท่งอื่นๆสูงขึ้น


8.จำนวนไข่ที่ควรแช่แข็ง

มีงานวิจัยออกมาเกี่ยวกับจำนวนไข่ที่แช่แข็งแล้วจะประสบความสำเร็จกับอายุของผู้หญิง พบว่าผู้หญิงที่อายุน้อยกว่า 35 ปี ที่แช่แข็งไข่ที่สมบูรณ์ 10-20 ใบ มีโอกาส70-90% ที่จะได้ประสบความสำเร็จ หากอายุมากกว่า 35 ปี อาจต้องใช้จำนวนไข่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้จำนวนไข่ที่เก็บไว้ก็สัมพันธ์กับโอกาสที่จะประสบความสำเร็จเช่นกัน โดยยิ่งมีไข่เก็บไว้มาก โอกาสที่จะได้ตัวอ่อนที่ดีและประสบความสำเร็จก็จะมากขึ้นด้วย


9.ผลลัพธ์จากการแช่แข็งไข่

เมื่อต้องการใช้ ไข่ที่ถูกแช่แข็งจะถูกทำให้กลับคืนสู่อุณหภูมิร่างกายตามขึ้นตอนทางห้องปฏิบัติการ โดยทั่วไปไข่ที่ผ่านกระบวนการแช่แข็งจะมีอัตราการรอดชีวิตประมาณร้อยละ 80-90 ขึ้นอยู่กับคุณภาพของไข่ก่อนแช่แข็ง โดยจากข้อมูลพบว่าเด็กที่เกิดจากการนำไข่แช่แข็งมาใช้ในเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์นั้น มีน้ำหนักแรกคลอดและร่างกายที่แข็งแรง ไม่พบว่ามีความผิดปกติสูงขึ้นกว่าการใช้ไข่ที่ไม่ได้ผ่านกระบวนการแช่แข็ง


10.กฎหมาย

ปัจจุบันกฎหมายอนุญาตให้แช่แข็งไข่เพื่อใช้ในอนาคตได้ โดยผู้รับบริการจะต้องลงชื่อใน หนังสือแสดงความยินยอมเพื่อรับการบริการแช่แข็งไข่ หลังจากที่เข้าใจถึงข้อบ่งชี้ต่าง ๆที่เกิดขึ้นได้จากกระบวนการแช่แข็งไข่ 

รีวิว

ติดต่อเรา

คลินิกแพทย์หญิงราตรี

สูตินรีเวช โคราช

เบอร์โทร

096-408-4755

ที่อยู่

487/5-8 ม.9 ต.หมื่นไวย อ.เมืองนครราชสีมา นครราชสีมา 30000

เวลาทำการ

จ-ศ 17:00 - 19:30 น.
ส-อา 9:00 - 12:00 น.