การฝากครรภ์ที่คลินิกแพทย์หญิงราตรี
การฝากครรภ์ คือการตรวจ ติดตาม วิเคราะห์ เฝ้าระวังความเสี่ยงต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นระหว่างการตั้งครรภ์ ระหว่างคลอด หรือหลังคลอด ซึ่งความเสี่ยงต่างๆ อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอันไม่พึงประสงค์ต่อมารดาและทารก
การฝากครรภ์ อาจแบ่งการฝากครรภ์ความเสี่ยงต่ำ และการฝากครรภ์ความเสี่ยงสูง ซึ่งหมายรวมถึงในรายที่มารดามีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวานก่อนตั้งครรภ์ โรคความดัน โรคหัวใจ โรคไทรอยด์ โรคภูมิคุ้มกันต่อต้านตัวเอง (SLE) โรคไต เป็นต้น ซึ่งการฝากครรภ์ ในรายที่มีโรคประจำตัว หรือเจอภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ อาจต้องใช้แพทย์สหสาขาวิชาชีพในการดูแลร่วมกัน
การฝากครรภ์ ควรเริ่มเมื่อใด : ควรเริ่มเร็วที่สุดที่ทราบว่าตั้งครรภ์ หรือควรมาก่อน 12 สัปดาห์ ในมารดาที่ประจำเดือนมาปกติ อายุครรภ์มักจะแม่นยำ แพทย์สามารถตรวจอัลตร้าซาวด์เห็นถุงการตั้งครรภ์ เห็นถุงไข่แดง หรือขีดตัวเด็กได้ตั้งแต่อายุครรภ์ 5 สัปดาห์ (โดยนับจากประจำเดือนวันแรกของรอบสุดท้าย) แพทย์จะทำการอัลตร้าซาวน์ทางช่องคลอดเพื่อดูตำแหน่งถุงการตั้งครรภ์ ว่าอยู่ในโพรงมดลูกหรือไม่ เป็นการตั้งครรภ์นอกมดลูก ท้องลม หรือครรภ์ปลาอุกหรือไม่ ตรวจหาเนื้องอกมดลูก หรือถุงน้ำรังไข่ได้ด้วย นอกจากนี้ยังสามารถกำหนดอายุครรภ์ได้อย่างแม่นยำได้เช่นกัน
การเตรียมตัวมาฝากครรภ์ ควรมาครั้งแรกทั้งสามีและภรรยา เพื่อเจาะเลือดฝากครรภ์ทั้งสองคน (ดังจะกล่าวในรายละเอียดต่อไป) หากเป็นการตั้งครรภ์ครั้งหลัง ควรนำสมุดฝากครรภ์เล่มเก่ามาด้วย เพื่อดูประวัติการตั้งครรภ์ในครรภ์ก่อน ว่ามีภาวะแทรกซ้อน มีผลเลือดผิดปกติ เช่นเป็นคู่เสี่ยงธาลัสซีเมียหรือไม่ มารดาได้รับวัคซีนในครรภ์ก่อนครบหรือไม่ ระหว่างคลอดมีภาวะแทรกซ้อน เช่น ครรภ์เป็นพิษ ตกเลือด ติดเชื้อ คลอดทารกตัวใหญ่เกิน 4,000 กรัม หรือน้ำหนักตัวน้อยกว่า 2,500 กรัม คลอดก่อนกำหนดหรือไม่ เป็นต้น